ความหมายของกฎหมาย
“กฎหมาย” หมายถึง คำสั่งหรือข้อบังคับความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุด หรือรัฏฐาธิปัตย์เป็นผู้บัญญัติขึ้นผู้ใดฝ่าฝืน มีสภาพบังคับกฎหมายมีลักษณะ 5 ประการดังนี้
1.กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ
2.กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์
3.กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป
4.กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตาม
5.กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ
ความสำคัญของกฎหมาย
กฎหมายมีความสำคัญต่อสังคมในด้านต่างๆ ดังนี้
1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม
2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม
4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น
ดังนั้น การที่ประเทศใดจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นไปในแนวทางใดก็ตามถ้าได้มีบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลักการให้ทุกคนปฏิบัติตาม ก็ย่อมทำให้การพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชนประสบผลสำเร็จได้สูงกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมตามปกติ
องค์ประกอบของกฎหมาย
1. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ.
2. ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.
3. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี ๒ ประเภท คือ
3.1 บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง
3. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี ๒ ประเภท คือ
3.1 บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง
3.2 บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)
4. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม
ซึ่งจะได้อธิบายตามลำดับไป
ประเภทของกฎหมาย
1. กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร แบ่งแยกสาขากฎหมายมหาชนได้ ดังนี้
(1) รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนั้น ๆ ต่อกันและกัน
(2) กฎหมายปกครอง ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดรายละเอียดในการปกครองลดหลั่นลง
(3) กฎหมายอาญา ได้แก่ กฎหมายที่บัญญัติถึงความผิดและโทษ
(4) กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หมายความถึง กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลและอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลและของผู้พิพากษา
(5) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(6) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
2. กฎหมายเอกชน (Private Law) ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันในฐานะเท่าเทียมกัน เช่นเรื่องสัญญาซื้อขาย ก. ทำสัญญาซื้อขายกับ ข. ก. กับ ข. ต่างก็อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน ก. จะบังคับ ข. ให้ตกลงกับ ก. อย่างใด ๆ โดย ข. ไม่สมัครใจไม่ได้ มีข้อที่ควรสังเกตว่าในบางกรณีรัฐก็ได้เข้ามาทำสัญญากับราษฎร ในฐานะที่รัฐเป็นราษฎรได้ ซึ่งก็ต้องมีความสัมพันธ์เหมือนสัญญาซื้อขายระหว่างบุคคลธรรมดา กฎหมายเอกชนที่กล่าวไว้ในที่นี้ ได้แก่
(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีลักษณะเป็นประมวลกฎหมายแบ่งแยกออกเป็นหลายลักษณะด้วยกัน เช่น นิติกรรมสัญญา หนี้ ซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ละเมิด ตัวแทน นายหน้า เป็นต้น
2) กฎหมายอื่น ๆ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนในฐานะเท่าเทียมกัน อันมีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชนยังมีอยู่อีกมาก อันได้แก่พระราชบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษอื่น อย่างเช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งจำกัดสิทธิในการมีที่ดินของบุคคลบางประเภท พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมีลักษณะเป็นกึ่งกฎหมายมหาชนและกึ่งกฎหมายเอกชน
3. กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกัน และแบ่งแยกออกตามความสัมพันธ์ได้ 3 สาขา คือ
(1) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในฐานะที่รัฐเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กำหนดข้อบังคับการทำสงครามระหว่างกันและกัน
(2) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในทางคดีบุคคล คือ ในทางเอกชนหรือในทางแพ่ง กฎหมายนี้จะกำหนดว่าถ้าข้อเท็จจริงพัวพันกับต่างประเทศในทางใดทางหนึ่ง เช่น การสมรสกับหญิงที่เป็นคนต่างด้าว หรือ การซื้อขายของที่อยู่ในต่างประเทศจะใช้กฎหมายภายในประเทศ (คือกฎหมายไทย) หรืออาจใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่คดีนั้น ๆ
(3) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันทางคดีอาญา เช่น กำหนดว่าการกระทำความผิดนอกประเทศในลักษณะใดบ้างจะพึงฟ้องร้องในประเทศไทย ตลอดจนวิธีส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น
ศักดิ์ของกฎหมาย
ศักดิ์ของกฎหมาย ( hierachy of law) คือ ลำดับความสูงต่ำของกฎหมาย
การจัดศักดิ์ของกฎหมายมีความสำคัญต่อกระบวนวิธีการต่าง ๆ ทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การตีความ และการยกเลิกกฎหมาย เช่น หากกฎหมายฉบับใดมีลำดับชั้นของกฎหมายสูงกว่า กฎหมายฉบับอื่นที่อยู่ในลำดับต่ำกว่าจะมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับกฎหมายสูงกว่านั้นมิได้ และอาจถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
เกณฑ์ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมาย
เกณฑ์ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมายได้แก่ การพิจารณาจากผู้ตรากฎหมายฉบับนั้น ๆ ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ
สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยผู้แทนของปวงชนคือรัฐสภา เป็นการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกันใช้อำนาจสูงสุดแห่งรัฐในการออกกฎหมาย จึงให้มีศักดิ์สูงสุด ส่วนที่มีศักดิ์รองลงมาได้แก่ พระราชบัญญัติและพระราชกำหนด ซึ่งได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วจึงผ่านไปยังวุฒิสภา เป็นการแยกกันใช้อำนาจ
ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
ว่ากันแต่ประเทศไทยในปัจจุบัน มีทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมายจารีตประเพณี และหลักกฎหมายทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ากฎหมายส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในรูปลายลักษณ์อักษรมากที่สุด
ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายไทย แบ่งอย่างละเอียดเป็น 7 ชั้น ได้แก่
1. รัฐธรรมนูญ
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
3. พระราชบัญญัติ
4. พระราชกำหนด
5. พระราชกฤษฎีกา
6. กฎกระทรวง
7. กฎหมายที่ตราโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น